บันทึกการเรียนครั้งที่ 5
วันอังคาร ที่ 3 ธันวาคม 2556
วันนี้อาจารย์เปิด PowerPoint เนื้อหาการสอนไม่ได้อาจารย์เลยให้เคลียงานที่ค้างอยู่
ความรู้เพิ่มเติม
ความรู้เพิ่มเติม
เด็กออทิสติก
ออทิสติกเป็นปัญหาของการเสียพัฒนาการในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการอารมณ์ และพฤติกรรมที่เหมาะสมกับวัย จัดว่าเป็นการเสียพัฒนาการที่รุนแรง สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ปี
เด็กออทิสติกจะเป็นลักษณะของการเล่นอยู่ในโลกของตัวเอง เด็กอาจจะชอบทำอะไรซ้ำๆ ชอบสังเกตหรือดูอะไรที่เป็นลักษณะการทำงานซ้ำๆ เช่น พัดลม หรือมีความสนใจเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถ ต้นไม้ หรือว่าสิ่งอื่นๆ รอบตัว ซึ่งอาจจะต่างกันไปในเด็กบางคน นอกจากนั้นในเรื่องการเคลื่อนไหวก็อาจจะมีวิธีการเดินเฉพาะตัวของเด็ก ซึ่งก็แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคนเช่นกัน เช่น การเดินเขย่ง เป็นต้น
ข้อสังเกตลูกน้อยออทิสติก
- ดูดนมได้ไม่ดี
- เงียบเฉยเกินไป และไม่สบตา
- ไม่สนใจให้ใครกอดรัด ไม่ชอบให้ใครมายุ่ง
- ไม่ลอกเลียนแบบ ชี้นิ้วไม่เป็น
- ไม่สนใจใคร แต่บางรายอาจติดคนมากจนผิดปกติ
- ท่าทางเฉยเมย ไร้อารมณ์เมื่อถูกชักชวนให้เล่น หน้าจะเรียบเฉยมากหากสังเกตดูดีๆ จะมี แววเศร้า
- ไม่แสดงท่าทางหรือส่งเสียงเรียก ไม่ส่งเสียงไม่อ้อแอ้
พ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูสังเกตได้ว่าลูกไม่เหมือนเด็กอื่น
- ไม่สนองตอบด้านอารมณ์ ไม่แสดงอาการดีใจให้เห็นหรือทักทายคนที่เด็กชอบ หรือหาก แสดงก็มากเกินไป
-ผูกพันกับสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ ถ้าดึงออกจะกรีดร้องอยู่นาน
เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder - ADHD)
ผลการสำรวจจาก WHO (World Health Organization) เมื่อปี 2006 พบว่าเด็กร้อยละ 5.9 เป็นโรคสมาธิสั้น ถือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าเกิดจากสาเหตุใดแน่ชัด อาจเกิดจากได้รับสารพิษบางประเภท เช่น สารตะกั่ว หรือกรรมพันธุ์จากพ่อแม่ที่มีอาการสมาธิบกพร่อง ลูกก็อาจมีปัญหาเดียวกัน หรืออาจเกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้า (frontal lobe) ซึ่งทำหน้าที่คัดกรองสิ่งเร้า ทำหน้าที่บกพร่อง ทำให้เด็กหันไปสนใจสิ่งเร้าที่ไม่เหมาะสมแทนที่จะสนใจสิ่งเร้าที่สำคัญ โดยสารสื่อประสาท (neurotransmitter) บางอย่างมีลักษณะไม่สมดุล สมองจึงทำหน้าที่ไม่ได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเด็กด้อยปัญญา ตรงกันข้ามเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีสติปัญญาดีด้วยซ้ำ สามารถแบ่งตามอาการแสดงออก คือ
สมาธิสั้น – ขาดความสามารถในการจดจ่อเพื่อรับสิ่งเร้าใดสิ่งเร้าหนึ่งให้นานพอที่จะเรียนรู้ได้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราจดจ่ออยู่กับสิ่งใด สมองจะมีความสามารถพิเศษที่จะตัดสิ่งเร้าไม่พึงประสงค์ออกไปได้ และจะรับเฉพาะเรื่องที่สนใจเพียงเรื่องเดียว
- ละเลยในรายละเอียด หรือทำผิดด้วยความเลินเล่อในการทำงาน การเรียน หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ
-ไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น
- ดูเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย
- ทำตามคำแนะนำไม่จบ หรือทำกิจกรรมไม่เสร็จ
- มีความลำบากในการจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม
- หลีกเลี่ยงหรือไม่ชอบกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ
- ทำของหายบ่อยๆ
ซนมาก– เด็กสมาธิสั้นจะซนกว่าเด็กปกติอย่างเห็นได้ชัด และจะซนเรื่องเดิมได้ไม่นาน มีความเร็วสูง (hyperactive) จึงมักจะมีของแถมเป็นบาดแผลติดตัวอยู่บ่อยๆ ไม่สามารถยับยั้งและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ อย่างเช่น มักวิ่งชนโต๊ะ แม้จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยหรือเจอผู้ใหญ่ที่ไม่คุ้นหน้า เขาก็ยังซนเหมือนเดิม ในขณะที่เด็กทั่วไปจะระวังตัวหรือเกร็งๆ อยู่บ้าง
- บิดมือหรือเท้า หรือนั่งบิดไปมา
- ลุกจากที่ในห้องเรียนหรือที่อื่นที่ต้องนั่ง
- วิ่งไปมา ปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม
- ไม่สามารถเล่นแบบเงียบๆ ได้
- เคลื่อนไหวตลอดเวลา คล้ายขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์
- พูดมากเกินไป
หุนหันพลันแล่น - ทันทีที่มีอะไรเกิดขึ้นในใจ เขาจะโต้ตอบฉับพลัน ไม่รู้จักรอคอย ไม่รู้จักกาละเทศะ หรือโมโหเพื่อนเมื่อไรก็ใช้กำลังตอบโต้ทันทีเช่น ครูถามว่า "ใครรู้คำตอบบ้างยกมือขึ้น" เด็กปกติจะยกมือ แต่ถ้าเด็กสมาธิสั้นรู้ เขาจะลัดคิวตอบเลย
- ผลีผลามตอบก่อนจะถามจบ
- ไม่สามารถรอคอยในแถว
- พูดแทรกหรือก้าวก่ายเรื่องของคนอื่น
อาการสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการรักษา จะกลายเป็นปัญหาในตอนโตต่อเนื่อง การเรียนตกต่ำ ใจร้อน ชอบชกต่อย ติดเกม ติดบุหรี่หรือยาเสพติด กลายเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับ เกเรและซึมเศร้าได้ โดยกุมารแพทย์ทุกคนสามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้ ถ้าพบว่าเป็นจึงจะส่งต่อไปรักษา และมีรายงานว่า 1 ใน 3 สามารถหายเป็นปกติ อีก 1 ใน 3 พอโตแล้วก็ยังมีอาการอยู่ ส่วนอีก 1 ใน 3 ยังคงมีอาการอยู่ แต่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้
เด็กสมาธิสั้นจะถูกดึงจากสิ่งเร้ารอบตัวได้ง่าย เพราะฉะนั้นโต๊ะ เก้าอี้ สำหรับทำการบ้าน อ่านหนังสือ ควรจัดให้เป็นสัดส่วน ลดสิ่งรบกวนให้น้อย ปรับสิ่งแวดล้อมให้เด็กอยู่ได้อย่างปลอดภัย ลดสิ่งกีดขวางในบ้านให้น้อยลง นอกจากนั้นพาลูกไปสวนสาธารณะ ให้เขาได้ออกกำลังเพื่อปลดปล่อยพลังงานที่มันเหลือเฟือ พอเหนื่อยมากๆ อาการสมาธิสั้นก็จะดีขึ้น
สังเกตพฤติกรรมลูกสมาธิสั้น
- ไม่สามารถอยู่นิ่งได้
- ไม่นั่งอยู่กับที่ขณะรับประทานอาหาร
- เล่นของเล่นอย่างหนึ่ง ประเดี๋ยวเดียวก็เปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่น
- ไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ
- เล่นเสียงดังกว่าเด็กอื่นๆ
- พูดมาก พูดไม่หยุด พูดขัดจังหวะคนอื่นๆ
- ไม่ชอบแบ่งปัน ไม่อดทนรอเวลาเข้าแถวหรือเวลาเล่นของเล่นที่ต้องแบ่งกัน เล่น
- ชอบแย่งของจากผู้อื่น โดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้ถูกแย่ง
- ประพฤติตัวไม่เหมาะสมอยู่เป็นประจำ
- ครูผู้ดูแลบ่นว่ามีปัญหาทางพฤติกรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น